การอุดฟัน⠀เป็นการรักษาฟันที่ผุ โดยการเติมวัสดุสังเคราะห์เข้าไปที่ตัวฟัน
ทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปให้มีรูปทรงคล้ายเดิมมากที่สุด
เพื่อให้ฟันสามารถกลับมาทำหน้าที่ในการการบดเคี้ยวอาหารได้เป็นปกติ
วัสดุอุดฟัน
วัสดุอุดฟันแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ วัสดุสีคล้ายฟัน กับ วัสดุสีคล้ายโลหะหรืออะมัลกัม
วัสดุสีคล้ายฟันหรือเรซินคอมโพสิต
เป็นวัสดุอุดสังเคราะห์ที่มีสีใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ มีความแข็งแรงพอสมควร แต่ไม่เท่าแบบโลหะ จึงมักใช้ในบริเวณที่ต้องการความสวยงาม เช่น ฟันหน้า เป็นต้น แต่ปัจจุบันก็ได้พัฒนาให้สามารถใช้อุดฟันกรามได้เช่นกัน
ข้อดี
- มีสีใกล้เคียงกับสีธรรมชาติของฟัน
- มีความแข็งแรงพอสมควร
ข้อเสีย
- รับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่าวัสดุอุดโลหะหรืออะมัลกัม จึงไม่นิยมใช้อุดฟันขนาดใหญ่
- ในระยะยาวมีโอกาสติดสีจากคราบกาแฟ ชา บุหรี่ รวมทั้งโลหะ เช่น ลวดรีเทนเนอร์ ตะขอของฟันปลอมได้
- ไม่สามารถใช้อุดฟันกับผู้ที่ไม่สามารถกันน้ำลายขณะอุดได้ เช่น เด็กเล็กที่ไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากการอุดด้วยวัสดุสีคล้ายฟันต้องไม่มีการปนเปื้อนจากความชื้น
- ราคาสูง
วัสดุสีคล้ายโลหะหรืออะมัลกัม
เป็นโลหะผสมระหว่างเงิน ดีบุก ทองแดง ปรอท และสังกะสี ใช้ในการอุดฟันส่วนที่ต้องรับแรงบดเคี้ยว เช่น ฟันกราม เป็นต้น
ข้อดี
- มีความแข็งแรงทนทาน
- ขั้นตอนในการอุดไม่ยุ่งยาก
- ราคาไม่แพง
ข้อเสีย
- มองเห็นเป็นสีเงินหรือสีเทาดำ จึงไม่นิยมใช้ในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย เช่น ฟันหน้า
- สีของอะมัลกัมยังสามารถซึมไปเปื้อนเนื้อฟันบริเวณอื่น เหงือก และกระพุ้งแก้ม กำจัดออกได้ยาก
- ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการอุดฟัน เพราะเสี่ยงต่อการแตกหัก
ปัจจัยที่ใช้พิจารณาในการอุดฟัน
- ฟันซี่ที่ผุจะต้องไม่ลุกลามเข้าไปในโพรงประสาทฟัน
- ฟันจะต้องมีส่วนที่เหลือเพียงพอต่อการยึดของวัสดุที่ใช้ในการอุด
- สภาพเหงือกบริเวณฟันซี่ที่จะอุดควรอยู่ในสภาพปกติ
- ในบางกรณี ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ขูดหินปูนก่อนอุดฟัน
วิธีอุดฟัน
- ทันตแพทย์จะกรอเนื้อฟันผุออก
- ถ้าฟันผุลึกเข้าไปชั้นในของเนื้อฟัน ทันตแพทย์จะใส่วัสดุรองพื้น ลดการเสียวฟัน
- ทันตแพทย์จะอุดฟันด้วยวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันต่อไป ระยะเวลาในการอุดฟันจะขึ้นอยู่กับสภาพฟันของแต่ละคน
หมายเหตุ
- หลังอุดฟันควรหมั่นทำความสะอาดฟัน เหงือก และช่องปากให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- อายุการใช้งานของวัสดุอุดฟันขึ้นอยู่กับวิธีดูแลช่องปากและปริมาณสัดส่วนของวัสดุอุดฟันที่ทันตแพทย์ผสม
การเตรียมตัวก่อนรับบริการ
- ควรดูแลความสะอาดช่องปากก่อนพบทันตแพทย์
การดูแลหลังรับบริการ
- แปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- ใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยในการทำความสะอาดฟัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเปรี้ยว
ข้อห้ามสำหรับการอุดฟัน
- ผู้ที่มีปัญหาเลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก
- ผู้ป่วยโรคเกล็ดเลือดต่ำและโรคลูคีเมีย
- ผู้ป่วยโรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต
- ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและการใช้ยาละลายลิ่มเลือด
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- เกิดอาการเสียวฟัน ซึ่งจะดีขึ้นภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ แต่หากไม่ดีขึ้นหลังจาก 1 เดือน ควรกลับมาพบทันตแพทย์
- ปวดฟันหลังจากยาชาหมดฤทธิ์ เนื่องจากการอุดฟันสูงเกินไป ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อลดความสูงของวัสดุอุดฟันโดยเร็ว
หมายเหตุ :
อัตราค่ารักษาอื่น ๆ ท่านสามารถโทรสอบถามได้จากทางคลินิก
อัตราค่ารักษาดังกล่าวเป็นการประเมินในเบื้องต้น
ค่าใช้จ่ายจริงทันตแพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ท่านทราบหลังจากทำการตรวจ ปรึกษาและวางแผนรักษาแล้ว
ราคานี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า